จังหวัดลพบุรีจัดกิจกรรมวันอาสาฬหบูชาอย่างยิ่งใหญ่ ชาวบ้านหมี่ร่วมพิธีห่มผ้าพระเจดีย์วัดเชียงงา สืบทอดวัฒนธรรมไทยพวน และเวียนเทียนทั่วจังหวัดเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา
วันที่ 10 กรกฎาคม 2568 จังหวัดลพบุรีจัดกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาเนื่องในวันอาสาฬหบูชาอย่างต่อเนื่อง โดยช่วงเช้าที่วัดเชียงงา ตำบลเชียงงา อำเภอบ้านหมี่ นายปรัชญา เปปะตัง รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เป็นประธานในพิธีห่มผ้าพระเจดีย์วัดเชียงงา ประจำปี 2568 ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมประเพณีที่สำคัญของชุมชนไทยพวน เพื่อแสดงศรัทธาในพระพุทธศาสนาและสืบทอดภูมิปัญญาวัฒนธรรมท้องถิ่น
พระเจดีย์วัดเชียงงา เป็นเจดีย์เก่าแก่ที่สร้างขึ้นราวปี พ.ศ. 2395 มีลักษณะเด่นคือรูปทรงกลีบมะเฟือง ฐานกว้าง 14 เมตร สูง 40 เมตร พร้อมรูปปั้นสิงห์ประดับโดยรอบฐาน ถือเป็นสถาปัตยกรรมที่งดงามหาชมได้ยาก ปัจจุบันมีอยู่เพียง 3 แห่งในประเทศไทย โดยของวัดเชียงงานั้นมีขนาดใหญ่ที่สุด
พิธีห่มผ้าพระเจดีย์เริ่มด้วยการให้ประชาชนร่วมลงชื่อบนผ้าห่ม เพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษ ก่อนเคลื่อนขบวนแห่ผ้าไปรอบอำเภอบ้านหมี่ แล้วจึงนำกลับมาวนรอบพระเจดีย์ 3 รอบ และนำผ้าขึ้นห่มยอดเจดีย์ด้วยรถเครน ท่ามกลางเสียงสวดมนต์ของพระสงฆ์และการมีส่วนร่วมของพุทธศาสนิกชนจำนวนมาก ถือเป็นการสร้างกุศลครั้งยิ่งใหญ่ก่อนเข้าพรรษา พร้อมส่งต่อศรัทธาให้คนรุ่นใหม่สืบสานต่อไป
ในช่วงค่ำวันเดียวกัน เวลา 19.00 น. ที่วัดเสาธงทอง พระอารามหลวง อำเภอเมืองลพบุรี ได้จัดพิธีเวียนเทียนเนื่องในวันอาสาฬหบูชา โดยมีพระครูสิริสิกขวิธาน เจ้าคณะตำบลท่าหิน เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และนายปรัชญา เปปะตัง รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เป็นประธานฝ่ายฆราวาส นำพุทธศาสนิกชนกล่าวแสดงตนเป็นพุทธมามกะ ปฏิบัติธรรม สวดมนต์ และเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ เพื่อความเป็นสิริมงคลและถวายเป็นพุทธบูชา
วันอาสาฬหบูชา ถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์ จนเกิดพระสงฆ์องค์แรกของโลก ทำให้เกิดพระรัตนตรัยครบองค์สามในวันเดียวกัน คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง
กิจกรรมที่จัดขึ้นตลอดวันในจังหวัดลพบุรี ไม่เพียงแสดงออกถึงศรัทธาอันแรงกล้าของประชาชน แต่ยังเป็นการอนุรักษ์และสืบสานประเพณีท้องถิ่นอย่าง “ห่มผ้าพระเจดีย์” ของชาวไทยพวนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น สะท้อนรากวัฒนธรรมลึกซึ้งที่ควรค่าแก่การส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น